ขับรถระวังคน ข้ามถนนระวังรถ

ขับรถระวังคน

อุบัติเหตุบนท้องถนน ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะทุกวันนี้ ทุกคนต้องใช้รถในการเดินทางไปไหนมาไหน ดังนั้น การศึกษาเรื่องเครื่องหมายจราจรและข้อควรปฏิบัติเพื่อเพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ขับและผู้ข้ามถนน จึงเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้ อายฟลีต จึงได้รวบรวมข้อควรปฏิบัติที่คนขับและคนข้ามถนนจำเป็นต้องรู้ มาฝากทุกคน รวมถึงบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำผิด เพื่อให้ขับรถกันอย่างไม่ประมาท ขับรถระวังคน และหากจะข้ามถนนก็ควรระวังรถด้วย แม้จะข้ามทางม้าลายก็ตาม

สารบัญ

ปัญหาเรื้อรังของคนขับและคนข้าม

ในปัจจุบัน ผู้ขับขี่รถบางคนมักจะละเลยกับสัญญาณไฟจราจร และลืมมองคนที่กำลังเดินข้ามถนน แม้จะเดินข้ามทางม้าลายก็ตาม จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อย่างเคสล่าสุดของ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ที่ถูกบิ๊กไบค์ขับชนเสียชีวิตระหว่างเดินข้ามทางม้าลาย จนทำให้สังคมตั้งคำถามว่า “เรามีทางม้าลายไปเพื่ออะไร หากการข้ามทางม้าลายยังไม่ปลอดภัย?”

ซึ่งกรณีของหมอกระต่าย ไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุขับรถชนคนข้ามทางม้าลายจนถึงแก่ชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เคยถูกแก้อย่างเป็นรูปธรรมเลยสักครั้ง ทั้งที่ประเทศไทยได้มีกฎหมายเกี่ยวกับทางม้าลาย โดยออกเป็นพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ระบุถึงทางม้าลายไว้หลายมาตรา

ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้คนสามารถข้ามถนนได้ตามปกติแม้ไม่มีทางม้าลาย เพียงแค่ดูรถว่ามีระยะห่างพอที่จะสามารถข้ามได้ ก็ตัดสินใจข้ามได้ทันที หรือเมื่อผู้ขับเห็นว่ามีคนกำลังจะข้ามถนนอยู่ในระยะ 50-100 เมตร แม้ผู้ข้ามจะยังไม่ก้าวเท้าแตะพื้นถนน ผู้ขับก็จะหยุดรถโดยทันทีเพื่อให้ผู้ข้าม ข้ามถนนไปก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักและทราบดีว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบจะต้องชดใช้อย่างมหาศาล

ข้ามมาที่ฝั่งเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่น มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นน้อยครั้งในประเทศนี้ เพราะผู้คนเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด แม้ในซอยเล็กก็จะมีสัญญาณไฟจราจรและทางม้าลาย ซึ่งรถทุกคันไม่มีการฝ่าสัญญาณไฟแม้จะไม่มีคนข้ามถนน ณ จุดนั้นเลยก็ตาม เช่นเดียวกันกับคนข้ามก็จะไม่ข้าม หากไม่ได้รับสัญญาณไฟให้ข้ามได้ แม้ถนนจะไม่มีรถแล่นอยู่เลยก็ตาม

สำหรับประเทศไทย ปัญหาระหว่างคนขับและคนข้ามเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งที่เกิดจากตัวคนขับเอง และที่เกิดจากตัวคนข้ามเองเช่นกัน เมื่อเกิดเหตุครั้งหนึ่งจึงจะมีการกวดขันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อเรื่องผ่านเลยไป ทุกอย่างก็กลับเป็นเช่นเดิม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ผู้ใช้รถใช้ถนนนั้นควรทราบ แล้วนำมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามวินัยจราจร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างกรณีของหมอกระต่ายกับใครอีก

Problems of drivers and pedestrians crossing the road

คนขับต้องจำ

ขับรถผ่านทางข้าม

1. หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนก่อนเสมอ 

ไม่ขับแซงคนที่กำลังเดินข้ามถนน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ 


2. ลดความเร็วเมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มีคนพลุกพล่าน 

อาทิ เขตชุมชน โรงเรียน ตลาด ย่านธุรกิจการค้า เนื่องจากอาจมีคนเดินข้ามถนน จึงควรชะลอความเร็วให้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมและหยุดรถได้ทัน


3. กรณีรถที่อยู่ช่องทางด้านซ้ายหรือรถด้านหน้าหยุด

ไม่ควรขับแซง แต่ควรชะลอความเร็วและหยุดรถ เพราะอาจมีคนกำลังเดินข้ามถนน


4. กรณีหยุดรถให้คนข้ามถนนเป็นคันแรก

ควรแตะเบรก เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับขี่รถคันหลังชะลอความเร็วและหยุดรถได้ทัน


5. กรณีไม่สามารถหยุดรถให้คนข้ามถนนได้

ควรบีบแตรหรือกะพริบไฟเตือน เพื่อให้คนเดินข้ามถนนเพิ่มความระมัดระวังและไม่วิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด

บทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด

  • กรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางข้าม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

  • กรณีขับรถชนผู้ที่ข้ามถนนบริเวณทางข้ามได้รับบาดเจ็บ จำคุกไม่เกิน 3 ปี

  • กรณีขับรถชนผู้ที่ข้ามถนนบริเวณทางข้ามเสียชีวิต จำคุกไม่เกิน 10 ปี

Stop the car and wait for people to cross the road

คนข้ามต้องรู้

พฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุของคนเดินเท้า

1. ไม่ข้ามถนนในบริเวณที่ปลอดภัย

คนเดินเท้ามักข้ามถนนในจุดที่สะดวก โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย แม้จะมีสะพานลอย ทางม้าลาย และจุดที่มีสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนน


2. ความประมาทของคนเดินเท้า

อาทิ วิ่งข้ามถนน ทำให้สะดุดล้ม วิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด ไม่มองเส้นทางเดินให้รอบด้านก่อนข้ามถนน หากมีรถขับมาด้วยความเร็วสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกรถชน


3. การตัดสินใจข้ามถนนผิดพลาด 

ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดทักษะในการกะระยะห่างของรถ การประเมินความเร็วของรถผิดพลาด ความลังเล และการตัดสินใจข้ามถนนที่ไม่แน่นอน


4. การประกอบกิจกรรมอื่นขณะเดินเท้าหรือข้ามถนน

อาทิ คุยโทรศัพท์ เล่นมือถือ พิมพ์ข้อความ ฟังเพลง หยอกล้อเล่นกัน ทำให้ไม่สนใจสภาพแวดล้อมรอบตัว และไม่ทันระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

เดินเท้าอย่างไรให้ปลอดภัย?

1. กรณีมีทางเท้า 

ให้เดินบนทางเท้าหรือไหล่ทาง ไม่เดินชิดริมขอบถนน หรือใกล้ทางเดินรถมากเกินไป พร้อมเพิ่มความระมัดระวังรถจักรยานยนต์ที่มักจะขับขี่บนทางเท้าด้วย

2. กรณีไม่มีทางเท้า 

ให้เดินชิดขอบทางด้านในให้มากที่สุด และเดินสวนทางกับรถที่วิ่งมา เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้หลบหลีกทัน

3. กรณีเดินเท้าหลายคน 

ควรเดินเรียงเดี่ยวอย่างเป็นระเบียบ ไม่เดินเรียงหน้ากระดาน หรือเดินเป็นกลุ่ม เพราะอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้

4. กรณีมีเด็ก 

ควรจับมือเด็กให้แน่น แล้วให้เด็กเดินชิดด้านใน เพื่อป้องกันเด็กถูกรถเฉี่ยวชน

5. กรณีทัศนวิสัยไม่ดี 

ควรสวมใส่เสื้อผ้าสีสว่างและเปิดไฟฉายส่องทาง เพื่อให้ผู้ขับขี่สังเกตเห็นได้ในระยะไกล

ข้ามถนนอย่างไรให้ปลอดภัย?

1. ข้ามถนนในบริเวณที่เป็นทางข้าม

เช่น ทางม้าลาย สะพานลอย บริเวณที่มีสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนน และบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวก เป็นต้น

2. หยุดรอข้ามถนนบนทางเท้า

พร้อมมองด้านซ้ายและขวาจนมั่นใจว่าไม่มีรถขับผ่าน หรือรถอยู่ในระยะไกล จึงค่อยเดินข้ามถนน

3. เดินเร็วในลักษณะทางตรง

ไม่เดินทแยง ไม่วิ่งข้ามถนน ไม่วิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด เพราะอาจสะดุดหกล้ม ทำให้ถูกรถชนได้

4. กรณีข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย 

ให้หยุดยืนรอบนทางเท้า มองด้านซ้ายและขวาจนมั่นใจว่ารถอยู่ในระยะไกล  หรือรถที่วิ่งผ่านมาหยุด จึงค่อยเดินข้ามถนน โดยเดินด้านซ้ายของทางม้าลาย พร้อมเพิ่มความระมัดระวังรถที่อาจขับแซงขึ้นมา และหากจะข้ามตรงทางข้ามที่มีเครื่องหมายจราจร ให้ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรที่ปรากฏต่อหน้า

  • สัญญาณจราจรไฟสีแดง = ให้หยุดรอบนทางเท้า ห้ามมิให้คนเดินข้าม

  • สัญญาณจราจรไฟสีเขียว = ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้

  • สัญญาณจราจรไฟสีเขียวกะพริบ = ให้คนที่ยังมิได้ข้ามหยุดรอบนทางเท้า แต่ถ้ากำลังข้าม ให้ข้ามอย่างรวดเร็ว

**หากต้องการข้ามถนน แล้วมีทางม้าลาย/สะพานลอยในระยะ 100 เมตร ให้ข้ามตรงทางม้าลาย/สะพานลอย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก 2522 มาตรา 104 (หากไม่ข้ามถนนบริเวณที่มีทางข้ามในระยะ 100 เมตร ปรับไม่เกิน 200 บาท)

5. กรณีข้ามถนนบริเวณทางม้าลายที่มีสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนน

ไม่ข้ามถนนในขณะที่สัญลักษณ์รูปตัวคนเป็นสีแดง ให้ข้ามถนนในขณะที่สัญลักษณ์รูปตัวคนเป็นสีเขียว

6. กรณีข้ามถนนบริเวณจุดที่ควบคุมด้วยสัญญาณไฟอัจฉริยะ (แบบมีปุ่มกด)

ให้กดปุ่มสัญญาณไฟ และหยุดยืนรอบนทางเท้า เมื่อสัญลักษณ์รูปตัวคนเป็นสีเขียว จึงสามารถเดินข้ามถนนได้ แต่ต้องระมัดระวังรถที่ขับฝ่าสัญญาณไฟ และไม่วิ่งข้ามถนนในช่วงที่ใกล้หมดเวลา เพราะเสี่ยงต่อรถเฉี่ยวชน

7. กรณีข้ามถนนที่มีเกาะกลาง

ควรเดินข้ามทีละครึ่งถนน โดยหยุดยืนรอบริเวณเกาะกลางถนน แล้วค่อยข้ามไปต่อเมื่อรถอยู่ในระยะไกล

Pedestrian Crossing

เทคโนโลยีเพิ่มความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่

อายฟลีต มีเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ของคุณให้มากยิ่งขึ้นด้วย ระบบขับขี่ปลอดภัยอัจฉริยะ (EyeFleet ADAS) ที่จะช่วยป้องกัน หลีกเลี่ยง และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถ ด้วยการส่งสัญญาณเตือนเมื่ออยู่ในสภาวะที่อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เช่น ผู้ขับขี่มีการเปลี่ยนเลนกะทันหัน ขับรถระยะกระชั้นชิด ระยะห่างจากรถคันข้างหน้าผิดปกติ เป็นต้น สามารถใช้งานได้กับยานพาหนะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น รถบรรทุก, เทรลเลอร์, กระบะ, รถโดยสาร, รถตู้, หรือรถส่วนบุคคล ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ระบบขับขี่ปลอดภัยอัจฉริยะ (EyeFleet ADAS)

EyeFleet Adas

อีกทั้งยังมี ระบบตรวจจับความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ (EyeFleet DMS) โดยมีเซนเซอร์ตรวจจับใบหน้าคนขับด้วยรังสีอินฟาเรด ที่ทำหน้าที่ประมวลผลภาพและวิเคราะห์พฤติกรรม หากมีอาการเหนื่อยล้าหรือง่วงนอนในขณะขับรถ ระบบจะส่งเสียงเตือนและแนะนำให้คนขับหยุดพักทันที ซึ่งเครื่องตรวจจับความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่รุ่นนี้ มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัย ขนาดเล็ก ติดตั้งง่าย ไม่บดบังทัศนียภาพของผู้ขับขี่ สามารถใช้กับบุคคลที่สวมใส่แว่นตาหรือแว่นตากันแดดได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ขับขี่จะถูกเตือนเมื่อเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย โดยไม่ต้องสัมผัสหรือกดปุ่มใด ๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ระบบตรวจจับความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ (EyeFleet DMS)

DMS EyeFleet

สรุป

คนเดินเท้า เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสารในรถ โดยอาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยงของคนเดินเท้าเอง ความประมาท การตัดสินใจผิดพลาด การข้ามถนนในบริเวณที่ไม่ปลอดภัย ประกอบกับผู้ขับขี่รถขาดวินัยจราจรและไม่ปฏิบัติตามป้ายเตือนต่าง ๆ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน อายฟลีต ขอให้ทุกท่านปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

สุดท้ายนี้ เราขอแสดงความเสียใจแก่ผู้สูญเสียทุกราย และหวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้แก้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนให้ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังและไม่ประมาท เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ thaipublica.org

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.