ก่อนออกเดินทางไกล สิ่งสำคัญและไม่ควรลืมเลยคือการตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง วันนี้ อายฟลีต จึงมีวิธี เช็กรถก่อนเดินทางไกล มาฝาก ซึ่งสามารถเช็กด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ และสำหรับธุรกิจที่มีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก เรามีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คุณบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงยานพาหนะให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกคัน มาแนะนำด้วยครับ
สารบัญ
ทำไมต้องตรวจเช็กรถเป็นประจำ?
เพื่อความปลอดภัย
เพื่อให้รถมีสภาพที่พร้อมใช้งาน และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
ประหยัดค่าใช้จ่าย
หากพบว่าตรงจุดไหนเสียหรือใกล้จะเสีย ก็สามารถซ่อมได้ทันเวลา งบไม่บานปลาย
ยืดอายุการใช้งาน
ช่วยให้ชิ้นส่วนและอะไหล่ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพและใช้งานได้นานขึ้น
เพิ่มมูลค่ารถ
เมื่อรถสภาพดี จะทำให้การขายต่อได้ราคาดีไปด้วย

10 จุดสำคัญที่ต้องเช็กรถก่อนเดินทางไกล
1. เช็กแบตเตอรี่รถ
วิธีการตรวจเช็ก สามารถแบ่งตามประเภทของแบตเตอรี่ได้ดังนี้
แบตเตอรี่ประเภทที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ฝาเรียบ ไม่มีช่องเติมน้ำกลั่น สังเกตอาการเวลาสตาร์ทรถ ตรวจสอบสถานะการทำงานเบื้องต้นได้จากการดูตาแมว
แบตเตอรี่แบบต้องเติมน้ำกลั่น มีฝาปิดอยู่ด้านบน มีช่องเติมน้ำกลั่น เริ่มจากเช็กอายุแบตเตอรี่ ถ้ายังไม่ครบ 1 ปี โอกาสเสื่อมน้อย (หลังจาก 12 – 24 เดือน ควรตรวจเช็กความเสื่อม) ลำดับต่อมา ตรวจเช็กระดับน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน
นอกจากนี้ ควรหมั่นทำความสะอาดคราบขี้เกลือที่ขั้วแบตเตอรี่ ตรวจสอบความแน่นของขั้วและฉนวนหุ้มสาย รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการ ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มสตาร์ทติดยาก แบตเตอรี่อาจหมดอายุการใช้งาน (โดยทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี) ให้เตรียมเปลี่ยนตัวใหม่ได้เลย
2. เช็กล้อและยาง
ล้อและยางรถ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและเป็นอีกจุดสำคัญที่ไม่ควรพลาด เพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนหนึ่งเกิดจากยางระเบิดขณะขับขี่ ดังนั้น สิ่งที่ควรเช็ก คือ ความดันลมยาง สภาพล้อรถ รอยแตกของยาง และความลึกของดอกยาง
สำหรับการตรวจเช็กแรงดันลมยาง ควรมีแรงดันลมยางตามความเหมาะสมของรถแต่ละประเภท หรือตามค่ากำหนดที่รถระบุ ดูได้บริเวณข้างประตูฝั่งคนขับ
รถเก๋งทั่วไป ควรมีแรงดันลมยาง 30 – 32 PSI
รถกระบะ ควรมีแรงดันลมยาง 36 – 38 PSI
3. เช็กโช๊คอัพ ช่วงล่าง
ตรวจเช็กจุดรั่วซึมของคราบน้ำมันบริเวณโช๊คอัพ
ตรวจเช็กการคืนตัวของโช๊คอัพ เช็กด้วยการกดบริเวณท้ายรถ หรือหน้ารถ สังเกตการคืนตัว หากมีการเด้งขึ้นลงหลายครั้ง แสดงว่าโช๊คอัพมีปัญหา
ตรวจเช็กด้วยการสังเกตรูปทรงของโช๊คอัพควรเป็นรูปทรงกระบอกสมมาตร
ตรวจเช็กความร้อนหลังการใช้งาน เมื่อจอดรถใช้มือสัมผัสกับโช๊ค หากไม่มีความร้อนแสดงว่าโช๊คอัพมีปัญหาทำงานไม่เต็มที่
4. เช็กระบบและน้ำมันเบรก
ระบบเบรก เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการขับขี่ทางไกล ถ้าเบรกมีสภาพไม่สมบูรณ์ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ควรสังเกตผ้าเบรกและเสียงเบรกว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติหรือไม่ วิธีเช็ก คือ เหยียบเบรก แล้วฟังว่ามีเสียงดังผิดปกติไหม หากมีแสดงว่าผ้าเบรกอาจมีปัญหา ควรเข้าอู่ให้ช่างแก้ไขโดยด่วน
น้ำมันเบรก ควรมีระดับอยู่ระหว่าง Min กับ Max ถ้าในระดับปกติต้องไม่เกิน Max และไม่ต่ำกว่า Min แต่ถ้าเห็นว่าน้ำมันเบรกพร่องหายไป ควรรีบหาสาเหตุความผิดปกตินั้นทันที หรือนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญเช็กสภาพรถและแก้ไขทันที เพราะในความเป็นจริง ระบบเบรกเป็นระบบปิด น้ำมันเบรกจะไม่สามารถระเหยออกไปได้เอง เว้นแต่กรณีผ้าเบรกสึกหรือมีจุดรั่วไหล
5. เช็กน้ำมันเครื่อง
ตรวจเช็กระดับน้ำมันเครื่อง ควรให้อยู่ระหว่างขีด F กับ L หรือ Max กับ Min ด้วยการใช้ก้านวัดน้ำมันเครื่อง ดึงก้านวัดออกและเช็ดน้ำมันเครื่องที่ก้านวัด หลังจากนั้นเสียบก้านวัดกลับไปจุดเดิม แล้วดึงออกมาอีกครั้ง เพื่อเช็กระดับน้ำมันเครื่อง
6. เช็กระบบหล่อเย็น
ระบบระบายความร้อนถือเป็นหัวใจหลักอีกส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ เพราะถ้ามีความร้อนสะสมในขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน บวกกับอุณหภูมิภายนอกที่ร้อน หากระบบระบายความร้อนไม่ดีหรือมีปัญหา อาจทำให้เครื่องยนต์น็อคได้
ดังนั้น ควรตรวจสอบระบบหล่อเย็นอยู่เสมอ เช็กระดับน้ำหล่อเย็นในหม้อพักและหม้อน้ำว่ายังมีน้ำอยู่ไหม เช็กว่าพัดลมหม้อน้ำและมอเตอร์ยังทำงานเป็นปกติหรือไม่ ตรวจสอบรอยรั่วของหม้อน้ำ ท่อยาง และข้อต่อต่าง ๆ หากตรวจพบว่ามีน้ำไหลซึม ควรรีบแก้ไขโดยด่วน
* แนะนำ ให้ตรวจเช็กน้ำยาหล่อเย็นในหม้อน้ำในตอนเช้า ๆ ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ หรือเช็กในตอนที่เครื่องยนต์ไม่มีความร้อนดีที่สุด ส่วนการสังเกตความผิดปกตินั้น ให้เปิดฝาหม้อน้ำหรือถังพักน้ำสำรอง ดูสีและสภาพว่ายังดูดีอยู่หรือไม่ ถ้าน้ำลดหายไป ควรเติมเข้าไปโดยใช้น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) หรือใช้น้ำเปล่าสะอาดผสมกันในอัตราส่วน 50:50 ลงในหม้อน้ำจนถึงขีด Max (เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) และถ้าพบว่าสภาพน้ำมีสีคล้ายสนิม ควรเปลี่ยนถ่ายทันที
สำหรับรถบางรุ่น กำหนดระยะเวลาให้เติมน้ำยาหล่อเย็นทุก ๆ 2 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร บางรุ่นกำหนดไว้ที่ 100,000-200,000 กิโลเมตร หากมีการเช็กตามระยะอยู่เสมอ ระบบหล่อเย็นก็จะไม่มีปัญหา
7. ไส้กรองอากาศ
ไส้กรองอากาศรถยนต์ เป็นอีกส่วนที่ควรดูแลก่อนเดินทางไกล จะได้ไม่มีฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกผ่านเข้าไปในห้องเผาไหม้ ซึ่งคุณสามารถทำความสะอาดส่วนนี้ได้เอง
ถ้าเป็นไส้กรองแบบแห้ง ให้ถอดมาเป่าไล่เศษฝุ่นออกให้หมด
ถ้าเป็นแบบเปียก ให้นำไปล้างแล้วลงน้ำยาใหม่ หรือถ้าสกปรกมากและสภาพไม่ค่อยดีแล้ว ควรเปลี่ยนใหม่
ส่วนไส้กรองระบบปรับอากาศภายในรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้อากาศภายในรถยนต์สะอาด คุณจะได้หายใจโล่งปอดไปตลอดทาง ถ้าพบว่าสกปรกหรือเสื่อมสภาพ ควรถอดออกมาแล้วเปลี่ยนอันใหม่เข้าไป ไม่แนะนำให้ทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำ เพราะปัจจุบันไส้กรองชนิดนี้ราคาไม่แพงแล้ว
8. เช็กระบบไฟส่องสว่าง
คุณจำเป็นต้องเช็กระบบไฟส่องสว่างและสัญญาณไฟต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะในตอนกลางคืนหรือเมื่อขับขี่ผ่านจุดที่มีแสงน้อย โดยควรตรวจเช็กระบบไฟทุกส่วนว่าอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติหรือไม่ ทั้งไฟหน้าสูง-ต่ำ ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟเลี้ยว ไฟถอยหลัง ไฟตัดหมอก ไฟฉุกเฉิน ฯลฯ ต้องใช้งานได้ครบทุกจุด แสงต้องสว่างเต็มศักยภาพ ไม่มัว หากจุดไหนไม่สว่างหรือติด ๆ ดับ ๆ ควรรีบนำรถไปให้ช่างแก้ไข หรือหาหลอดใหม่เปลี่ยนเข้าไปแทน
9. เช็กกล้องบันทึกภาพ
ตรวจเช็กความปกติในการทำงาน และองศาในการติดตั้งกล้อง
เช็กวิดิโอย้อนหลัง ต้องเป็นไฟล์ขับขี่ล่าสุด
Format Memory Card เพื่อลดปัญหาการ Error หรือลบไฟล์ที่ไม่จำเป็น
ตรวจเช็กวันที่ และเวลา ต้องตรงกับปัจจุบัน
ตรวจเช็กความสะอาดของเลนส์กล้อง
ตรวจเช็กระบบการชาร์จของรถ การจ่ายไฟให้ตัวกล้องต้องทำงานปกติ
10. เช็กชุดเครื่องมือประจำรถ
เหตุฉุกเฉินเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง จึงควรเตรียมเครื่องมือประจำรถไว้ให้พร้อม เช่น ประแจ ไขควร ล้อ-ยางอะไหล่ แม่แรง ชุดเครื่องมือในการถอดล้อ ที่เติมลมฉุกเฉิน สายพ่วงแบตเตอรี่ สายลากรถ ไฟฉาย แผ่นรองพื้นกันเปื้อน ผ้าเอนกประสงค์สำหรับเช็ดเบาะรถยนต์ (เผื่อว่ามีอะไรหกเลอะระหว่างทาง) ฯลฯ ซึ่งควรมีติดรถไว้ นอกจากจะช่วยให้คุณอุ่นใจยามเดินทางแล้ว บางครั้งยังได้แสดงน้ำใจช่วยเหลือรถคันอื่นที่ประสบปัญหาได้อีกด้วย
อย่าลืม!! เช็กความพร้อมของคนขับ
การเตรียมความพร้อมของคนขับก่อนออกเดินทางก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากผู้ขับขี่แต่ละคนนั้นมีทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ รวมทั้งความพร้อมของสภาพร่างกายในแต่ละวันที่แตกต่างกัน ผู้ขับควรปฏิบัติดังนี้
1. พักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง
คนขับควรจะพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากสภาพร่างกายอ่อนเพลีย ไม่พร้อมในการควบคุมรถ ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการหลับในหรือทำให้การตัดสินใจของผู้ขับช้าลง นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่นด้วย
2. ไม่รับประทานยาที่ทำให้ง่วงซึม
ไม่ควรรับประทานยาที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่ ดังนี้
– ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้
– ยานอนหลับ
– ยาแก้ปวด เช่น ยาแก้ปวดทรามาดอล(Tramadol), ยาแก้ปวดอะมิทริปทัยลีน(Amitriptyline) และยาแก้ปวดกาบ้าเพนติน(Gabapentin)
– ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ยาโทลเพอริโซน (Tolperisone) และยาออเฟเนดรีน (Orphenadrine)
– ยากล่อมประสาท
– ยาคลายกังวล
– ยาแก้เวียนศีรษะ
– ยาแก้เมารถ
3. ควรศึกษาเส้นทางที่จะขับไปให้ดี
ผู้ขับควรศึกษาเส้นทางและวางแผนให้เรียบร้อยว่าจะขับรถไปทางไหน ดูว่าบริเวณไหน มีปั๊ม ห้องน้ำ จุดพักรถ หรือจุดที่มีทางโค้ง ทางชัน เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้โดยสารที่อยู่บนรถ
4. เอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถ
ใบขับขี่ เป็นสิ่งที่เราต้องพกติดตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว รวมถึงตัวเอกสารสำคัญของรถ เช่น ภาษี พรบ. ต้องไม่ขาด หากเกินกำหนดควรไปต่อให้เรียบร้อย ประกันรถก็สำคัญเช่นกัน มีไว้อุ่นใจกว่า เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกอย่างต้องครบ เพื่อเซฟตัวเราและรถของเราด้วย
5. ปฏิบัติตามกฎจราจร
ควรปฏิบัติตามกฎจราจร ขับด้วยความเร็วที่จำกัด ไม่ขับจี้คันหน้า หลีกเลี่ยงการแซง ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ควรใจร้อน หรือขับด้วยความประมาทเลินเล่อ ควรมีสติตลอดเวลาในขณะขับรถ ที่สำคัญคือ “เมาไม่ขับ” เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะนำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
ตัวช่วยบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงยานพาหนะ
ในการซ่อมบำรุงยานพาหนะสำหรับธุรกิจที่มียานพาหนะเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันมักจะบริหารจัดการโดยใช้ ระบบบริหารงานซ่อมบำรุง เพื่อความสะดวกสบาย ดูแลได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ซึ่งระบบบริหารงานซ่อมบำรุงยานพาหนะนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก ๆ ต่อต้นทุนของบริษัท เพราะหากมีการตรวจเช็กสภาพรถอย่างสม่ำเสมอ แล้วพบว่ามีจุดเสียหรือใกล้จะเสีย ก็สามารถซ่อมได้ทันเวลา ทำให้งบไม่บานปลาย ช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้พัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นมามากมายหลายเจ้า อย่าง ระบบบริหารงานซ่อมบำรุงยานพาหนะ (EyeFleet Maintenance) ของ อายฟลีต ก็กำลังเป็นที่นิยมในหลายกลุ่มธุรกิจที่ต้องดูแลยานพาหนะเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรถบรรทุกขนส่ง รถโดยสารประจำทาง รถตู้ เป็นต้น
EyeFleet Maintenance ได้เข้ามาช่วยบริหารงานซ่อมบำรุงได้อย่างตรงจุดและครอบคลุม โดยเป็น Software ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเก็บฐานข้อมูลงานซ่อมบำรุงยานพาหนะทั้งหมดในองค์กร สามารถสร้างรายการบำรุงรักษา ขอซ่อม และเพิ่มข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยานพาหนะลงในระบบได้ เช่น ทะเบียน พ.ร.บ. และประกันภัยต่าง ๆ ซึ่งระบบจะทำการ แจ้งเตือนทันทีเมื่อถึงกำหนดการเข้าบำรุงรักษา หรือต่อทะเบียน เพื่อให้ยานพาหนะคงอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา จึงช่วยควบคุมต้นทุน และเพิ่มประสิทธิผลโดยรวมของยานพาหนะให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งระบบยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเพิ่มขยายไปตามการเติบโตของธุรกิจคุณได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ระบบบริหารงานซ่อมบำรุงยานพาหนะ (EyeFleet Maintenance)

สรุป
การตรวจเช็กสภาพรถอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถทุกคนพึงกระทำ ซึ่งคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีตวรจเช็กรถก่อนเดินทางไกล เป็นสิ่งที่คุณสามารถทำด้วยตัวเองได้ หากพบอะไรที่ผิดปกติก็รีบแก้ไข หรือถ้าเป็นเรื่องที่ไม่มีความรู้ความชำนาญ ไม่แน่ใจ ควรนำรถไปเข้าศูนย์หรือให้อู่ซ่อมรถที่เชื่อถือได้ช่วยตรวจเช็กจะดีที่สุด
นอกจากการเช็กความพร้อมของตัวรถแล้ว อย่าลืมเช็กความพร้อมของตัวคนขับด้วย ควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง และที่สำคัญ “ขับขี่โดยไม่ประมาท” เพื่อความปลอดภัยกับทุกคนที่ร่วมเดินทาง
สำหรับผู้ที่สนใจ ระบบบริหารงานซ่อมบำรุงยานพาหนะ (EyeFleet Maintenance) สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ Line: @eyefleet หรือ โทร. 02-052-4466